Thailand
This article was added by the user . TheWorldNews is not responsible for the content of the platform.

‘จุลพันธ์’ ชง คกก.ชุดใหญ่ตัดสินใจ ใครได้เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทบ้าง คาดโอนได้หลัง เม.ย.67

“จุลพันธ์” เตรียมเสนอกรรมการชุดใหญ่เคาะดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท มี 3 ทางเลือก หนึ่ง ไม่ให้คนได้เงินเดือน 5 หมื่นขึ้นไปและ/หรือมีเงินฝาก 5 แสน สองไม่ให้คนเงินเดือน 2.5 หมื่นขึ้นไปและ/หรือมีเงินฝาก 1 แสน สาม ให้เฉพาะผู้ยากไร้ ส่วนระบบบล็อกเชนให้กรุงไทยพัฒนา โอนได้หลังเม.ย.67 

25 ต.ค.2566 สำนักข่าวไทย และ The Standard รายงานว่า จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปบางประเด็นจึงได้จัดทำข้อเสนอเป็นทางเลือกต่อคณะกรรมการนโยบายนี้ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทั้งเรื่องกลุ่มเป้าหมายที่จะให้ การขึ้นเป็นเงินสด ผู้ที่จะมาพัฒนาระบบ ที่มาของเงิน และมีการคาดการณ์ว่าจะโอนได้หลังเม.ย. 2567

ประเด็นเรื่องกลุ่มเป้าหมายจะเปลี่ยนจากการโอนเงินให้กับทุกคนอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน ใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท เป็นการจัดทำทางเลือกกลุ่มเป้าหมายให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจเลือกจาก 3 กลุ่มเป้าหมายคือ

1. ตัดกลุ่มรายได้หรือเงินเดือนมากกว่า 25,000 บาท และ/หรือมีเงินฝาก 1 แสนบาทออก เหลือคนที่ได้รับโอนจำนวน 43 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 4.3 แสนล้านบาท

2. ตัดกลุ่มรายได้หรือเงินเดือนมากกว่า 50,000 บาท และ/หรือมีเงินฝาก 5 แสนบาทออก เหลือคนที่ได้รับโอนจำนวน 49 ล้านคน ใช้เงิน 4.9 แสนล้านบาท

3. ให้เฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เป็นกลุ่มผู้ยากไร้ มีจำนวน 15-16 ล้านคน ใช้เงิน 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มควรได้รับการช่วยเหลือ

จุลพันธ์ระบุว่าคณะอนุกรรมการฯ อยากเสนอตัดสิทธิผู้มีรายได้สูง แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ดชุดใหญ่ตัดสินใจ

รมช.คลังกล่าวถึงประเด็นเรื่องการยืนยันตัวตนจะใช้ระบบ KYC โดยใช้ฐานข้อมูลเดิมจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อเข้าร่วมโครงการ สำหรับบุคคลธรรมดา นิติบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน ส่วนจะเปิดดำเนินการเมื่อไรจะประกาศอีกครั้ง

จุลพันธ์ระบุถึงการกำหนดแนวทางการใช้จ่ายจะมุ่งเน้นสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลักในเขตอำเภอ เพื่อกระจายรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่นถือว่าเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่มากเกินไป และต้องใช้จ่ายเงินภายใน 6 เดือน หากใช้ไม่หมดจะถูกตัดส่งคืนคลัง จึงตัดทางเลือกเขตตำบลและระดับจังหวัด สำหรับการขึ้นเงินดิจิทัลเป็นเงินบาท ทำได้เฉพาะร้านค้าอยู่ในระบบภาษี ทั้งการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ผู้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ส่วนแหล่งที่มาของเงินรองรับโครงการ ทำข้อเสนอ 3 ทางเลือก คือ

1. การใช้เงินงบประมาณเป็นหลัก

2. การใช้แหล่งเงินกู้ ด้วยหลากหลายวิธี

3. การใช้แนวทางกึ่งการคลัง ตามมาตรา 28 ด้วยการกู้เงินจาก ธนาคารออมสิน ยอมรับว่าเคยสนใจ แต่ขอเป็นทางเลือกสุดท้าย คณะอนุกรรมการฯ มุ่งเน้นเสนอใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ในรูปแบบงบผูกพันต่อเนื่อง 4 ปี ใช้งบประมาณปีละ 1 แสนล้านบาท รวมยอดเงินประมาณ 4 แสนล้านบาท

จุลพันธ์กล่าวถึงผู้บริหารและดำเนินการระบบ ให้ธนาคารกรุงไทยจัดทำแพลตฟอร์มใหม่ที่เป็นระบบบล็อกเชนมีความปลอดภัย เนื่องจากเคยสร้างแอปฯ เป๋าตังมาแล้ว แต่ระบบนี้จะแยกจากแอปฯ เป๋าตัง ด้วยการโอนฐานข้อมูลเดิมเข้ามาใช้ ยืนยันใช้เงินสร้างระบบไม่ถึง 12,000 ล้านบาท ตามที่เป็นข่าว ยอมรับว่า ขั้นตอนการจัดทำระบบเงินดิจิทัล ต้องทดสอบ เพื่อความปลอดภัย และการใช้งบประมาณอาจทำให้การโอนเงินดิจิทัลมีความล่าช้า หลังเดือนเมษายน 2567 พร้อมกับการใช้งบประมาณโครงการของรัฐ