Thailand
This article was added by the user . TheWorldNews is not responsible for the content of the platform.

“ก้าวไกล” ชวนแรงงานปทุมฯ ถกผลักดัน 4 กฎหมายยกระดับชีวิตคนงาน

“ก้าวไกล” ปีกแรงงาน จัดวง “Labor’s Night” ถกปัญหาแรงงานในสถานการณ์ปัจจุบัน เผยความคืบหน้าผลักดันกฎหมาย 4 ฉบับยกระดับชีวิตแรงงาน ลาคลอด-บำนาญประชาชน ถูกตีความเป็นร่างกฎหมายการเงิน ต้องอาศัยอำนาจนายกอนุมัติก่อนถกในสภา หวังนายกตอบรับ ฝากประชาชนร่วมจับตา

ทีมสื่อพรรคก้าวไกลแจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 ที่ ณ คลองหลวง บูธีค รีสอร์ท จ.ปทุมธานี เครือข่ายผู้ใช้แรงงานพรรคก้าวไกล ร่วมกับพรรคก้าวไกลปทุมธานี จัดงาน “Labor’s Night : ชวนคนทำงานปทุมฯ คุยเรื่องงานนอกเวลางาน” เป็นกิจกรรมพบปะระหว่างเครือข่ายผู้ใช้แรงงานพรรคก้าวไกล, ผู้ประกอบอาชีพแรงงานในพื้นที่ปทุมธานี, สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ทั้ง 6 เขต และแกนนำพรรคก้าวไกลคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยภายในงาน มีทั้งนิทรรศการ กิจกรรมแสดงดนตรี และการเสวนาเกี่ยวกับปัญหาของแรงงานในธุรกิจสร้างสรรค์, ภาคทางการ และแรงงานอิสระ และการนำเสนอการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิของแรงงานโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งมีแกนนำพรรคก้าวไกล คือ เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ และ พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล ร่วมพูดคุยในช่วงวงเสวนาเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน ร่วมด้วย ศรีไพร นนทรี ผู้นำแรงงานในย่านรังสิตและใกล้เคียง

โดยในส่วนของศรีไพร ระบุว่าแรงงานวันนี้ต่างประสบกับปัญหาในทุกภาคส่วน ตั้งแต่คนงานในโรงงานที่วันนี้ต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมงเพื่อให้พอกิน หลายคนต้องทำงานในวันหยุดด้วย แรงงานแพลตฟอร์มที่ไม่ถูกคุ้มครองสวัสดิภาพ ทั้งจากการเจ็บป่วย บาดเจ็บ และเสียชีวิต แพทย์ที่ทำงานติดต่อกัน 30 ชั่วโมง ลูกจ้างชั่วคราวโรงพยาบาลที่ไม่มีสวัสดิการ แรงงานที่เป็นศิลปิน นักดนตรี นักร้อง แรงงานข้ามชาติ กระทั่งแรงงานรับจ้างในภาคเกษตร ต่างประสบปัญหาที่แตกต่างกันไปจากรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไป

แต่ปัญหาก็คือกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ล้าสมัยและไม่ตอบโจทย์รูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไปนี้แล้ว ทำให้เกิดการดูแลที่ไม่ทั่วถึง และจำเป็นต้องได้รับการสังคยนา ซึ่งที่ผ่านมาทางฝ่ายแรงงานก็ได้เรียกร้องมาตลอดกับทุกรัฐบาล โดยเฉพาะในด้านสิทธิการรวมตัว ชุมนุม แสดงออก และอำนาจการต่อรอง แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีรัฐบาลไหนตอบรับและพูดถึง

สิ่งที่น่ากังวล คือในปัจจุบันฝ่ายทุนได้ผนึกกับอำนาจรัฐอย่างเข้มแข็งมากขึ้น จึงไม่มั่นใจว่าจะคาดหวังการปรับปรุงคุณภาพชีวิตแรงงานได้ขนาดไหน แต่เบื้องต้นก็ต้องขอจับตาว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทภายในปี 2570 ที่พรรคเพื่อไทยสัญญาไว้จะทำได้หรือไม่

ในส่วนของเซีย ระบุว่าปัญหาหลักของแรงงานในตอนนี้ มีตั้งแต่เรื่องของค่าจ้างไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ, สิทธิการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรองที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง ทุกวันนี้สหภาพแรงงานในภาคเอกชนทั่วประเทศมีอยู่เพียง 1,400 กว่าแห่ง มีสมาชิก 4 แสนกว่าคน ในภาครัฐวิสาหกิจมีสหภาพแรงงาน 40 กว่าแห่ง ซึ่งมีโอกาสสะท้อนปัญหาน้อยมาก, ความมั่นคงในการทำงานจากการถูกเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งในภาคทางการและภาคไม่เป็นทางการ

นี่คือปัญหาที่แรงงานได้พูดคุยกันมาตลอดในโรงงาน แต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องใช้กลไกการเมืองเข้าไปเปลี่ยนแปลง เมื่อมีพรรคอนาคตใหม่มาจนถึงพรรคก้าวไกล แรงงานหลายกลุ่มก็ได้มีการนำเสนอประเด็นให้กับพรรค ขับเคลื่อนมาร่วมกัน จนตกผลึกเป็นข้อเสนอทางนโยบาย และการมาขับเคลื่อนในฐานะ สส. ของพรรคต่อ

สำหรับพรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายทั้งค่าจ้าง 450 บาท การรับรองอนุสัญญา ILO 87-98 ที่ให้รัฐต้องรับรองสิทธิของแรงงานในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง การยกเลิกระบบจ้างงานแบบเหมาช่วง การปรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ฯลฯ ที่ตั้งใจจะผลักดันในฐานะรัฐบาล แต่เมื่อพรรคก้าวไกลได้เป็นฝ่ายค้านแล้ว พรรคก้าวไกลจึงอาศัยกลไกรัฐสภาในการผลักดันนโยบายเหล่านี้ในฐานะกฎหมายแทน อันได้แก่

1) แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ให้รับรองสิทธิลาตลอด 180 วัน และการให้สถานประกอบการมีพื้นที่ปั๊มนมให้ลูก
2) แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ว่าด้วยชั่วโมงการทำงาน วันลา และวันหยุดพักผ่อนประจำปี
3) แก้ไข พ.ร.บ.สหภาพแรงาน ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวเเป็นสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรอง
4) การเสนอร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า

ซึ่งร่างกฎหมายทั้งหมดนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับมาแล้วว่า 2 ฉบับ คือกฎหมายว่าด้วยสิทธิลาคลอด และว่าด้วยบำนาญประชาชนเป็นกฎหมายการเงิน ต้องอาศัยอำนาจนายกรัฐมนตรีในการลงนามรับรองจึงจะสามารถบรรจุเข้าสู่สภาได้ นี่คือเรื่องที่ต้องฝากให้ประชาชนร่วมกันติดตามและทวงถามกับรัฐบาลกันต่อไป

เซียยังกล่าวต่อไป ว่าสุดท้ายนี้การผลักดันกฎหมายแรงงาน สำหรับแรงงานทั้งในและนอกโรงงาน เครือข่ายแรงงานทำเพียงลำพังไม่ได้ ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันตั้งคำถาม ตรวจสอบ และผลักดัน ควบคู่กันไปด้วย

“อยากให้แรงงานทุกคนรวมตัวกันเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าอยู่ในโรงงานก็ขอให้รวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน ส่งเสียงของเราไปให้ถึงภาคการเมือง สิ่งที่จะกำหนดชีวิตของเราให้ดีไม่ดีได้คือการเมือง สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เรามีเสียงดังมากขึ้น พรรคการเมืองต้องฟังแน่นอนถ้าสหภาพแรงงานเข้มแข็ง” เซียกล่าว

ในส่วนของพริษฐ์ ระบุว่านโยบายแรงงานเป็นนโยบายที่หลายคนฝากความหวังกับพรรคก้าวไกลไว้มาก แต่วันนี้ในฐานะที่พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน การขับเคลื่อนนโยบายหลายอย่างจะมีความท้าทายมากขึ้น 4 ปีก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกลทำงานตรวจสอบอย่างเต็มที่ แต่บริบทวันนี้ สส. เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า ความคาดหวังของประชาขนก็สูงขึ้น พรรคก้าวไกลจึงต้องยกระดับการทำงานในฐานะฝ่ายค้านให้เป็นฝ่ายค้านเชิงรุกที่เตรียมความพร้อมในการเป็นรัฐบาลครั้งต่อไปและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สส. เพียง 150 คนไม่เพียงพอแน่นอนสำหรับการผลักดันกฎหมายโดยลำพัง แต่ตนอยากให้มองกฎหมายเหล่านี้เป็นความพยายามการเปลี่ยนแปลงในสองสมรภูมิ คือในสภาและนอกสภา ต่อให้กฎหมายจะไม่ผ่านแต่การเสนอหลักการเหตุผลโดยใช้พื้นที่สภา จะเป็นการณรงค์ทางความคิดกับประชาชนไปในเวลาเดียวกัน สั่งสมแนวร่วม ให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปเรื่องเหล่านี้กลายเป็นวาระที่ทุกพรรคการเมืองปฏิเสธไม่ได้

“เข้าใจว่าหลายคนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลผิดหวัง แต่ 4 ปีจากนี้เราจะพิสูจน์ว่าฝ่ายค้านก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่สำคัญว่าการเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็นเกิดขึ้นในรัฐบาลพรรคอะไร นายกชื่ออะไร แต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยการผลักดันของพวกเรา” พริษฐ์กล่าว