Thailand
This article was added by the user . TheWorldNews is not responsible for the content of the platform.

มัดรวมบทบาทสาธารณสุขไทยในเวทีสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 78

มัดรวมบทบาทสาธารณสุขไทยในเวทีสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 78 ให้คำมั่นสัญญายกระดับ 30 บาท เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า 

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานว่าหนึ่งใน "ของขึ้นชื่อ" ของประเทศไทยที่นานาชาติให้การยอมรับ นอกจากเรื่องอาหารและการท่องเที่ยวแล้ว ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เป็นของขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งที่นานาชาติให้การยอมรับและที่ผ่านมาประเทศไทยก็ได้ผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เข้าสู่เวทีระดับนานาชาติ และในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 19-22 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่ตัวแทนของประเทศไทยได้หยิบยกประเด็นด้านสุขภาพขึ้นมาพูดคุยหารือกับนานาประเทศ ทั้งในการประชุมหลักและการประชุมคู่ขนานต่างๆ  

เริ่มตั้งแต่ประเด็นสำคัญอย่างเรื่องวัคซีน ในวันที่ 19 ก.ย. 2566 ได้มีการจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำ ASEAN Minister & CEO Vaccine Manufacturing Dinner ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้แทนธนาคารโลก ตลอดจนผู้แทนจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ได้มีการหารือแนวทางเพื่อเร่งขยายการผลิตวัคซีนของอาเซียน รวมทั้งหารือการดำเนินการตามข้อเสนอแนะในกรอบความร่วมมือด้านการผลิตวัคซีนระดับภูมิภาค (Regionalized Vaccine Manufacturing Collaborative Framework) ซึ่ง นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าร่วมหารือและแสดงจุดยืนว่าประเทศไทยเห็นถึงความสำคัญต่อประเด็นความเสมอภาคของวัคซีนและการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อปรับปรุงความมั่นคงของวัคซีน นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพในการผลิตในระดับประเทศเพื่อการพึ่งพาวัคซีนภายในประเทศ และเน้นย้ำความตั้งใจที่จะร่วมมือกับอาเซียนในทุกด้านของความมั่นคงด้านวัคซีนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของอาเซียนด้วย  

จากนั้นในวันต่อมาคือ วันที่ 20 ก.ย. 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการป้องกัน การเตรียมความพร้อม และการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ (PPPR) โดยได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงเรียกร้องให้โลกลงทุนมากขึ้นเพื่อส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เร่งเจรจาจัดทำตราสารระหว่างประเทศสนธิสัญญาการระบาดใหญ่ในประเด็นดังกล่าวภายใต้องค์การอนามัยโลก และพัฒนาความร่วมมือด้านการป้องกัน เตรียมพร้อม และตอบสนองโรคระบาดอย่างสร้างสรรค์และมีสำนึกต่อส่วนรวม พร้อมถึงกล่าวถึงจุดยืนของประเทศไทยว่าไทยสนับสนุนให้เพิ่มการลงทุนในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งในช่วงเวลาปกติและภาวะฉุกเฉิน เพราะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นเครื่องรับประกันว่าระบบสุขภาพจะให้ความคุ้มครองทางสังคม ส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม และรักษาความเสมอภาคด้านสุขภาพ  

นอกจากนี้ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนาโดยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการดูแลสุขภาพ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรับรองข้อตกลงที่เข้าถึงได้และเป็นข้อสรุปสำหรับการป้องกันการระบาดใหญ่ผ่านการสร้างสนธิสัญญาการระบาดใหญ่และการแก้ไขกฎอนามัยระหว่างประเทศภายใต้องค์การอนามัยโลก (WHO) และเรียกร้องให้มีกระบวนทัศน์ใหม่ของความร่วมมือหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจัดหาเงินทุนด้านสุขภาพด้านนวัตกรรมทั้งในระดับในประเทศและต่างประเทศ 

ในวันเดียวกันนั้นเอง ยังมีเวทีคู่ขนานอีกเวทีหนึ่งที่ตัวแทนประเทศไทยประกอบด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค และ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา เข้าร่วมประชุม คือ การประชุมระดับสูงเพื่อเฉลิมฉลองความก้าวหน้าด้านเอชไอวีระดับโลกเพื่อการยุติเอดส์และบรรลุเป้าหมาย SDGs ซึ่งประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573 มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ “ไม่ติด-ไม่ตาย-ไม่ตีตรา” โดย 1.ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ เหลือไม่เกิน 1,000 รายต่อปี 2.ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี เหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย และ 3.ลดการเลือกปฏิบัติ อันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวี และเพศภาวะลงจากเดิมร้อยละ 90 โดยจะดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายโลกให้บรรลุ 95-95-95 ในปี 2573 

ในวันถัดมาคือวันที่ 22 ก.ย. 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็เป็นตัวแทนประเทศไทย กล่าวถ้อยแถลงประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของไทยในการเสริมสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ย้ำความจำเป็นของการลงทุนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และต้องให้ประชาชนร่วมตัดสินใจในการดำเนินนโยบายต่างๆ พร้อมใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและสิทธิเข้าถึงการรักษา พร้อมประกาศต่อนานาชาติว่าไทยจะยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยหรือนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการขยายสิทธิประโยชน์ที่จำเป็น การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค การดูแลแบบประคับประคอง ไปจนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกของบริการสุขภาพในทุกระดับให้มากขึ้น เพื่อที่จะทำให้ประชาชนไทยได้เข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างแท้จริง  

นอกจากนี้แล้ว ตัวแทนของไทยยังได้เข้าร่วมการอภิปรายของภาคส่วนที่หลากหลาย (Multistakeholder panel) เช่น นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการอภิปรายในหัวข้อพัฒนาและปรับการลงทุนของเราเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในโลกหลังโควิด (Aligning our investments for health and well-being in a post-COVID world.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งผลให้รายจ่ายสุขภาพที่ประชาชนต้องจ่ายด้วยตนเอง (Out of pocket: OOP) ลดลงน้อยกว่า 10% ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด และมีครัวเรือนเพียง 1.5% เท่านั้นที่ประสบปัญหาล้มละลายทางการเงินเนื่องจากค่ารักษาพยาบาล (catastrophic health expenditure) พร้อมยกตัวอย่างกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นซึ่งเป็นการสมทบกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางการเงินการคลังด้านสาธารณสุขเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและหน่วยบริการสาธารณสุขในระดับชุมชน ได้ตัดสินใจร่วมกันว่าจะใช้เงินกองทุนเพื่อพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขในแต่ละท้องถิ่นอย่างไร โดยให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ และสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ พัฒนาและปรับการลงทุนด้านสาธารณสุข โดยมุ่งเน้นไปที่การกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น เช่นเดียวกับประเทศไทย 

นอกจากนี้แล้ว นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนประเทศไทย ยังเข้าร่วมการอภิปรายของภาคส่วนที่หลากหลาย ในหัวข้อความสำคัญของระบบสุขภาพปฐมภูมิและแนวทางในการสนับสนุน (What is a primary healthcare approach and why does it matter?) โดยได้เน้นย้ำความสำคัญของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อให้บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยยกตัวอย่างกรณีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ไทยพัฒนานวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ (New Normal) ที่นำไปสู่มิติใหม่ของการให้บริการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ไม่ว่าจะเป็นบริการการแพทย์ทางไกล (telemedicine) การดูแลสุขภาพของคนในชุมชนด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) การรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน การเจาะเลือด-ตรวจแล็บที่ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่และคลินิกเทคนิคการแพทย์นอกหน่วยบริการ รวมไปถึงระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (homeward) เป็นต้น พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าการจะบรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องลงทุนอย่างเพียงพอในระบบสาธารณสุขและพัฒนากลไกทางการเงินและการคลังด้านสาธารณสุขให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งการมีระบบสุขภาพปฐมภูมิในรูปแบบใหม่ที่เน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการให้บริการและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  

ขณะเดียวกันในช่วงเย็นยังได้เข้าร่วมเวทีการประชุมประจำปีครั้งที่ 4 ของกลุ่มเพื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสุขภาพโลก "สู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีความยืดหยุ่น เท่าเทียมกัน และยั่งยืนมากขึ้นในปี 2030: อวยพรสู่การดำเนินการตามปฏิญญาการเมือง UHC ปี 2023" ซึ่งจัดโดย องค์การอนามัยโลก (หุ้นส่วนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) ประธานร่วมของกลุ่มเพื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสุขภาพโลก (จอร์เจีย ญี่ปุ่น และไทย) กลุ่ม UHC2030 และสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ  

และในการประชุมวันสุดท้าย 22 ก.ย. 2566 นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการอภิปรายของภาคส่วนที่หลากหลาย ในหัวข้อเร่งดำเนินการหลายภาคส่วนเพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดการดูแลวัณโรคอย่างมีคุณภาพโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและอย่างเท่าเทียมกันภายใต้บริบทของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มอุบัติการณ์ของวัณโรคของไทยลดลงในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทยที่ต้องเร่งจัดการและแก้ไขการแพร่ระบาด ซึ่งได้มีการปรับกระบวนการค้นหาและรักษา โดยใช้วิธีการตรวจทางโมเลกุลที่รวดเร็วและมีความไวในการตรวจหาเชื้อวัณโรคและวัณโรคดื้อยา รวมถึงสนับสนุนให้มีการตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ และประเมินความไวต่อยาไปพร้อมๆ กัน เพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมตั้งเป้าว่าจะยุติวัณโรคให้ได้ภายในปี พ.ศ.2578 โดยใช้กลไกของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของวัณโรคในไทย เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีภาระวัณโรคต่ำ  

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือบทบาทสำคัญๆของไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับและการมีตัวตนของไทยในเวทีนานาชาติในด้านการสาธารณสุขนั่นเอง 

พื้นที่ประชาสัมพันธ์