Thailand
This article was added by the user . TheWorldNews is not responsible for the content of the platform.

นักวิชาการแนะรัฐบาลเร่งพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา-ต่อยอดการพัฒนา EEC

นักวิชาการแนะรัฐบาลเร่งพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา ต่อยอดการพัฒนา EEC รักษาสมดุลนโยบายการเงิน ชี้ US Government Shutdown ยังกระทบเศรษฐกิจและตลาดการเงินจำกัดหลังยืดไปถึง 17 พ.ย. 


รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (แฟ้มภาพ)

1 ต.ค. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตประธานกรรมการตรวจสอบ บมจ บางจากปิโตรเลียม (บมจ บางจากคอร์ปอร์เรชั่น) เปิดเผยว่า การมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนส่งผลบวกอย่างมากต่อเศรษฐกิจ การลงทุนและคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชาเช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการกับมาเลเซียจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ ต่อธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของประเทศในอนาคต สามารถลดราคาพลังงานได้ในระยะยาว ลดต้นทุนภาคการผลิตและการดำเนินชีวิตของประชาชน สามารถทดแทนการนำเข้าพลังงาน ส่งผลบวกต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน หากไม่ตัดสินใจดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน Overlapping Claims Area ตอนนี้แล้ว มูลค่าทรัพยากรพลังงานที่ได้จากพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวจะลดมูลค่าลงไปเรื่อย ๆ ในช่วงสามทศวรรษข้างหน้า จนกระทั่งในที่สุด ทรัพยากรธรรมชาติแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนเหล่านี้อาจไม่คุ้มทุนที่จะสำรวจขึ้นมาใช้ 

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีพลังงาน ความก้าวหน้าของพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าจะเข้ามาแทนที่พลังงานปิโตรเลียม พลังฟอสซิลแบบดั้งเดิมเกือบทั้งหมดไม่เกินสามทศวรรษข้างนี้ เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนของข้อตกลงระดับโลกต่างๆ จะทำให้ แหล่งพลังงานดั้งเดิม ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมัน มีมูลค่าลดลง หากไม่สำรวจและขุดมาใช้ในเวลาที่เหมาะสมจะเกิดการสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ ความคุ้มค่าต่อการลงทุนพัฒนาจะลดลงตามลำดับ ภัยคุกคามต่อมนุษยชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อพลวัตของธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว     

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวเสนอความเห็นต่อว่า ขอเสนอให้ใช้ Green New Deal แก้วิกฤติโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ ระบบการใช้พลังงาน จากข้อมูลของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) บ่งชี้ตรงกันว่า โลกมีเวลาอีกเพียง 10 กว่าปีเท่านั้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ด้วยปัญหาดังกล่าว “พลังงานหมุนเวียน” และ “พลังงานสะอาด” จะมีความสำคัญมากขึ้น เรื่อย ๆ พลังงานฟอสซิลแบบดั้งเดิม (น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ) จะมีความสำคัญลดลงเรื่อย ๆ พร้อมมูลค่าที่ลดลง การลงทุนอย่างจริงจังเพื่อสร้างอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งที่สำคัญต่อประเทศไทย การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาดต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายและมาตรการของรัฐบาล ต้องสร้างระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาพลังงานคาร์บอนน้อยลง ทำให้เกิดการสร้างงานใหม่ในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดและกิจการต่อเนื่อง ศึกษาแนวทางในการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ปรับปรุงมาตรฐานการประหยัดและอนุรักษ์พลังงานให้สูงกว่าเดิม 

ขอสนับสนุนการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพและปริมณฑลเหลือ 20 บาทของรัฐบาลเศรษฐา ควรต้องดำเนินการให้เร็ว และขอให้รัฐบาลลงทุนระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในต่างจังหวัดด้วย ระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานสะอาดและราคาถูกจะทำให้ สภาพแวดล้อมดีขึ้น บรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงได้บ้าง ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น การมีอากาศสะอาดสำหรับหายใจ การมีน้ำและอาหารสะอาดสำหรับดื่มกิน เป็น หลักประกันพื้นฐานที่ Thai Green New Deal ต้องทำให้เกิดขึ้น ข้อเสนอของตน เรื่อง Thai Green New Deal นี้ต้องให้หลักประกัน อากาศ น้ำ อาหารสะอาดปลอดภัยสำหรับคนไทย   

ปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ปัญหาความขัดแย้งเขาพระวิหารในอดีตทำให้การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน นับจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาสิทธิและขอบไหล่ทวีปมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ต่อมามีการประกาศเขตไหล่ทวีป รวมถึงการให้สิทธิสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา สมัยรัฐบาลถนอมในไทย และ สมัยรัฐบาลเจ้าสีหนุในเวลานั้น อย่างไรก็ตาม เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในเขมร ประกอบกับ เกิดความผันผัวนและวิกฤตการณ์ของระบอบประชาธิปไตยในไทยก่อนเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จึงมีการหยุดให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการในปี พ.ศ. 2518 ปัญหาความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ทับซ้อนมีความอ่อนไหวสูงในมิติการเมืองแบบชาตินิยม ซึ่งบรรดานักฉวยโอกาสทางการเมืองอาจหยิบประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเพื่อปลุกระดมหวังผลประโยชน์ทางการเมืองบนต้นทุนค่าเสียโอกาสของทั้งสองประเทศ ฉะนั้นการกำหนดวัตถุประสงค์ของการเจรจาต้องชัดเจน โปร่งใส เปิดเผยต่อสาธารณชน โดยควรครอบคลุม 5 ประเด็น ได้แก่ 1. การแก้ปัญหาพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ซึ่งมีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร 2. การดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาปี พ.ศ. 2544 (MOU 2544) 3. การเจรจาจัดทำข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ 4. เจรจาจัดทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือตามโมเดลเขตพัฒนาพื้นที่ไทยมาเลเซียที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี 5. การทำข้อตกลงใดๆกับกัมพูชาที่ส่งผลระยะยาวต่อประเทศและประชาชนชาวไทยต้องผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร 

ความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อนำแหล่งพลังงานใหม่มาใช้ จะก่อให้เกิดการต่อยอดการลงทุนอีกมากมายในเขต EEC โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นจำเป็นต้องมีการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ การเตรียมระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการให้พร้อมอีกด้วย  การเปิดเสรีภาคการลงทุนอาจทำให้เกิด Positive Spillover Effect จากการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ หากทรัพยากรมนุษย์ภายในประเทศมีระดับการศึกษาสูงและมีคุณภาพ มีพลังดูดซับดี รวมทั้งมีมาตรการในการทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ ต้องลงทุนในการศึกษาและวิจัยยกระดับผลิตภาพของทุนและแรงงาน นวัตกรรมของประเทศ จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ขณะที่เราไม่สามารถเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมที่สูงยิ่ง การปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายความมั่งคั่งจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ควรมุ่งมั่นสู่การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างเต็มรูปแบบ (Full Economic Liberalization) จะทำให้ระดับการเปิดประเทศของไทยปรับตัวสูงขึ้นไปอีก เดินหน้าเปิดกว้างทางสังคมให้ค่านิยม วิถีชีวิตและวัฒนธรรมประชาธิปไตยหยั่งรากลึกในสังคมไทย สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยเสริมให้การขยายตัวของตัวแปรด้านเศรษฐกิจมหภาคของไทย (Macroeconomic Variables) จะมีค่าเป็นบวก และตัวแปรทางด้านสวัสดิการสังคมโดยรวม ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ  

กรณี US Government Shutdown และ ความไม่แน่นอนในเรื่องการขยายเพดานหนี้สหรัฐอเมริกา ในเบื้องต้นยังกระทบเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกจำกัดหลังรัฐสภาสามารถตกลงกันในการใช้งบประมาณชั่วคราวหลีกเลี่ยงการปิดที่ทำการรัฐบาลไปจนถึงวันที่ 17 พ.ย. ศกนี้ ความเคลื่อนไหวล่าสุดดังกล่าวส่งผลบวกต่อตลาดการเงินโลกในระยะสั้น การโหวตผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยง US Government Shutdown ส่งผลให้ Bond Yield สหรัฐฯ อ่อนตัวลงในสัปดาห์หน้า และ ปัจจัยบวกระยะสั้นต่อตลาดหุ้นทั่วโลก  อย่างไรก็ตาม    นักลงทุนและกองทุนที่ถือพันธบัตรระยะสั้นรัฐบาลสหรัฐฯอาจมีการเทขายหรือถอนการลงทุนได้ในอนาคต หากการไม่ขยายเพดานหนี้นำไปสู่สถานการณ์ไม่สามารถชำระหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาหลัง 17 พ.ย. ข้อผูกพันทางการเงินไม่สามารถปฏิบัติได้จากรัฐบาลกลางสหรัฐฯจากสภาพคล่อง อาจนำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ หากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่นักลงทุนทั่วโลก และ ธนาคารกลางทั่วโลกถืออยู่ไม่สามารถปฏิบัติตามพันธสัญญาได้ ไม่สามารถจ่ายเงินต้นคืนหรือดอกเบี้ยได้เป็นการชั่วคราวจากปัญหาสภาพคล่อง ย่อมทำให้ความเสี่ยงในการถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯสูงขึ้น จะทำให้รัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น หากไม่เกิดปัญหาเรื่องเพดานหนี้สาธารณะด้วยการขยายเพดานหรืองดเว้นการบังคับใช้เพดานชั่วคราว จะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มได้อย่างน้อย 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีหน้า ในระยะสิบปีข้างหน้า รัฐบาลสหรัฐฯสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะได้ถึง 750,000 ล้านดอลลาร์ ความจำเป็นในการขยายเพดานหนี้ชั่วคราวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากรัฐบาลคงไม่สามารถเก็บภาษีหรือมีรายได้มากเพียงพอในการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆในการบริหารประเทศและปฏิบัติตามพันธสัญญาต่างๆ ได้ 

เมื่อหน่วยงานของรัฐบาลปิดดำเนินการบางส่วน หรือ เกิด US Government Shutdown บางส่วนเหมือนที่เคยเกิดขึ้น บรรดาพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ คู่สัญญากับรัฐบาลสหรัฐฯ อาจได้รับเงินล่าช้าลงอย่างมากได้ มีการประเมินเบื้องต้นโดยอิงผลกระทบจากปัญหาเพดานหนี้สาธารณะในอดีต พบว่า ต้นทุนในการกู้ยืมของรัฐบาลสหรัฐฯอาจเพิ่มขึ้น 1.3 พันล้านดอลลาร์ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอาจเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ โดยพันธบัตรอายุ 10 ปีอาจเพิ่มถึง 0.80% ดัชนีราคาหุ้นสหรัฐฯอาจปรับตัวลดลงจากระดับปัจจุบันได้อีก 10-20% เศรษฐกิจถดถอยอาจทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้น 2-2.8 ล้านคนในระยะสองปีข้างหน้า หากปัญหา US Government Shutdown มีความยืดเยื้ออีกหลัง 17 พ.ย.  สถิติในอดีต บ่งชี้ว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย +2.86% และ 8.9% หลังการปิดหน่วยงานรัฐ 1 สัปดาห์ และ 1 เดือน ตามลำดับ คาดว่ายิดล์พันธบัตรสหรัฐฯ ยังทรงตัวในระดับสูง ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวไตรมาสี่ของสหรัฐฯอาจจะปรับลดลง 0.2 ppt สาหรับการหยุดงานทุก ๆ 1 สัปดาห์ อัตราว่างงานสูงขึ้น 0.1% ppt ในเดือน ต.ค. งบประมาณชั่วคราวที่ผ่านรัฐสภาสหรัฐอเมริกาล่าสุดเพื่อยืดปัญหา US Government Shutdown ออกไปหลัง 17 พ.ย. นั้นจะไม่รวมงบประมาณช่วยเหลือประเทศยูเครน ซึ่งอาจทำให้มาตรการช่วยเหลือมนุษยธรรมประสบปัญหาและสถานการณ์สงครามในยูเครนเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ทำให้ กองทัพรัสเซียมีความได้เปรียบมากขึ้นในการยึดคืนพื้นที่ที่สูญเสียไปก่อนหน้านี้ที่กองทัพยูเครนรุกคืบหน้าอย่างชัดเจน  

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า พลวัตของสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องสอดประสานกันเพื่อรับมือความท้าทายต่างๆในระยะสั้นและสามารถแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างระยะยาวได้ในขณะเดียวกัน การดำเนินนโยบายการเงินต้องมีความสมดุลมากขึ้น การเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติสู่ Terminal Rate นั้นไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด มาตรการการเงินและนโยบายดอกเบี้ยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาวิกฤติหนี้ครัวเรือนในระบบเศรษฐกิจไทยด้วย ภาระทางการเงินและต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย ขณะที่ สถาบันการเงินโดยเฉพาะที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่จะมีผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาสสี่ปีนี้จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุด      
 

ข่าวรอบวัน

พื้นที่ประชาสัมพันธ์