Thailand
This article was added by the user . TheWorldNews is not responsible for the content of the platform.

พรรคร่วมแจงแนวทางการทำประชามติแก้ รธน.ของรัฐบาลดีอยู่แล้ว เสนอญัตติเข้าสภาอาจโดน สว.ตีตก

พรรคร่วมรัฐบาลแจงเรื่องประชามติแก้ รธน.ตั้งคณะกรรมการฯ มารับฟังความเห็นอยู่แล้ว แต่ฝ่ายค้านเสนอญัตติเข้าสภาอาจโดน สว.ตีตก ย้ำเรื่องไม่แตะหมวด 1-2 เพราะพรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกันหมด ยังมั่นใจว่าแนวทางที่รัฐบาลทำอยู่ตอนนี้ดีกว่า

25 ต.ค.2566 เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎรเผยแพร่การแถลงข่าวต่อเรื่องการทำประชามติและการจัดทำรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล โดยทางด้านพรรคเพื่อไทยมีชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อและรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นผู้แถลง และมีภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.เขตจังหวัดอ่างทองของพรรคภูมิใจไทยร่วมแถลงด้วย

ชูศักดิ์ได้กล่าวเน้นย้ำจุดยืนตามแนวทางที่รัฐบาลกำลังดำเนินการในการไปสู่การทำประชามติและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นเป็นแนวทางที่เป็นไปได้จริง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการตามกระบวนการแล้ว ขณะที่ญัตติที่เสนอโดยพรรคฝ่ายค้านสุ่มเสี่ยงที่จะไม่สามารถเดินไปจนสุดทางได้ ในด่านสำคัญคือ สว.ที่อาจไม่เห็นด้วย

1. การทำประชามติเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีการตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาว่าจะต้องมีการทำประชามติกี่ครั้ง และศึกษารายละเอียดว่าหลังการทำประชามติแล้วจะต้องดำเนินต่อไปอย่างไรเพื่อไปสู่เป้าหมายให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

2. พรรคฝ่ายค้านได้เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สุ่มเสี่ยงที่จะเดินทางไปได้ไม่สุด ด้วยเหตุผลว่าฝ่ายค้านไปอ้างกฎหมายประชามติมาตรา 9 (4) ในกฏหมายประชามติ ซึ่งเขียนไว้เกี่ยวกับรัฐสภาเห็นชอบให้เสนอรัฐบาลเพื่อทำประชามติ ซึ่งคำว่า ‘รัฐสภา’ ประกอบด้วยฝ่าย สส.และ สว. ซึ่งในความเป็นจริงไม่ว่า สส. จะมีมติเป็นประการใดก็ตาม มตินั้นก็ต้องเข้าที่ประชุม สว.  ที่อาจจะไม่เห็นชอบและท้ายที่สุดก็ไปต่อไม่ได้

3. ในส่วนที่ยังมีความขัดแย้ง เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับหมายความว่าอย่างไร ซึ่งผู้เสนอญัตติดังกล่าวหมายถึงทั้งฉบับทุกเรื่อง แต่พรรคร่วมรัฐบาลเห็นทำนองเดียวกันคือทั้งฉบับยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 นี่คือข้อสาระสำคัญเป็นต้น

4. ประการสำคัญ คือหากฟังจากถ้อยแถลงของรัฐบาล ได้แสดงออกซึ่งการยินดีรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ ดังเช่นในขณะนี้ที่รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพราะรัฐบาลเปิดกว้างจึงสามารถส่งความคิดเห็นไปให้รัฐบาลได้รวบรวมประมวลความว่าสุดท้ายจะทำอย่างไร

5. ดังนั้น รัฐบาลได้ยืนยันมาโดยตลอดว่าเราต้องทำประชามติ เราต้องทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่วิธีทำที่รัฐบาลเดินหน้าอยู่จะทำได้ดีกว่าและสำเร็จได้เนื่องจากว่าการทำรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาถ้ารัฐบาลไม่เอาด้วยหรือ สว.ไม่เอาด้วยก็ไม่สำเร็จ แต่ครั้งนี้รัฐบาลร่วมด้วยจึงเชื่อได้แน่ว่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.เขตจังหวัดอ่างทองของพรรคภูมิใจไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า ขอยืนยันว่าการลงมติในวันนี้ที่คะแนนเสียง 262 ต่อ 162 ไม่ได้หมายความว่าพวกเราพรรคร่วมไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติเพื่อสอบถามพี่น้องประชาชนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ใช่หมายความว่าพวกเรากอดรัฐธรรมนูญฉบับปี  2560 ที่เป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ แต่พวกเราเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นของพี่น้องประชาชนโดยมาจาก ส.ส.ร. สิ่งที่ไม่เห็นด้วยกับญัตติมี 3 ประเด็นหลัก คือ

1) ขณะนี้รัฐบาลมีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบแล้วและคณะกรรมการชุดนี้มาจากทุกพรรคการเมืองนอกจากตัวแทนฝ่ายการเมืองแล้วยังมีตัวแทนของนักวิชาการเข้าร่วมด้วย นั่นหมายความว่าคณะกรรมการชุดนี้มีความน่าเชื่อถือต่อสังคมมากพอสมควรที่จะดำเนินการให้เราได้

2) พวกเราไม่เห็นด้วยเพราะว่าในส่วนของเนื้อหาสาระ ของคำถามที่จะส่งให้ทางรัฐบาลในญัตติของพริษฐ์ ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคที่ประกาศเอาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งว่าจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และหมวด 2 แต่ญัตติของนายพริษฐ์ จะให้แก้ไขทั้งฉบับซึ่งนั่นขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของพวกเราแม้ว่าพริษฐ์บอกว่าไม่จำเป็น ที่เขียนไว้เช่นนี้อาจจะไม่มีการแก้ก็ได้แต่ไม่มีใครรับรองได้ว่าอาจจะมีการแก้ได้เช่นเดียวกันเพราะฉะนั้นเพื่อความรอบคอบในการที่จะไม่ผิดคำว่าสัญญาต่อพี่น้องประชาชนว่าเราจะไม่แก้หมวด 1 และ 2 เราจึงไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้

3) ในเรื่องของการตั้ง ส.ส.ร. เราค่อนข้างยังไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ทั้งร้อยละ 100 ให้มาจากการเลือกตั้ง เพราะเราเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายมหาชนควรที่จะเกิดขึ้นจากพี่น้องประชาชนในหลากหลายสาขาอาชีพ เราไม่มีอะไรที่จะยืนยันได้เลยว่าการเลือกตั้งร้อยละ 100 จะได้บุคคลที่มาจากทุกสาขาอาชีพและคนหลากหลาย นี่คือ 3 เหตุผลหลักที่พวกเราไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติเพื่อสอบถามพี่น้องประชาชนนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ