Thailand
This article was added by the user . TheWorldNews is not responsible for the content of the platform.

ศาลพิพากษาคดี ม.112 สามคดีติด รอลงอาญา 2 ศาล ยกฟ้อง 1 ศาล

ช่วงสายวันนี้ ศูนย์ทนายความฯ รายงานผลคำพิพากษาในคดีม.112 สามคดี ทั้งจากศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลเชียงใหม่ และศาลสมุทรปราการ 2 ศาลแรกให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองศาลแต่ให้รอลงอาญาส่วนของโทษจำคุกไว้ ส่วนศาลสมุทรปราการอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องเหตุพิสูจน์ไม่ได้ว่าโพสต์จริง

25 ต.ค.2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานผลคำพิพากษาใน 3 คดี จาก 3 ศาล ทั้งศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลจังหวัดเชียงใหม่ และศาลจังหวัดสมุทรปราการที่อ่านคำพิพากษาของศาลอุททรณ์

รอลงอาญาไม่ใช่เรื่องง่าย ห้ามทำผิดซ้ำ

คดีของศาลอาญาตลิ่งชันเป็นคดีที่มีจำเลยคือ “พัชรพล” (สงวนนามสกุล) ผู้ควบคุมการก่อสร้าง (โฟร์แมน) วัย 25 ปี ในฐานความผิด ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากเหตุแสดงความคิดเห็นถึงรัฐบาลและพระมหากษัตริย์ใต้โพสต์ลงนามถวายพระพรของเพจเฟซบุ๊ก ‘กรมประชาสัมพันธ์’ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2564

คดีนี้พัชรพลได้ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาคดี ศาลได้อ่านคำพิพากษาจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตัวบทกฎหมายที่หนักที่สุด คือมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน

อย่างไรก็ตามศาลได้กล่าวถึงการรับรายงานจากรายงานการสืบเสาะจากเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ พบว่าจำเลยไม่เคยมีประวัติก่ออาชญากรรมมาก่อน ปัจจุบันพักอาศัยอยู่กับครอบครัว และประกอบกับในชั้นพิจารณาคดี จำเลยได้ให้การรับสารภาพ ตลอดจนได้เห็นว่าจำเลยมีความสำนึกจากการกระทำในครั้งนี้ โดยการสมัครเข้าร่วมทำงานอาสาสมัคร

เจ้าหน้าที่คุมประพฤติเสนอความเห็นว่าสมควรให้โอกาสแก่จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี ขอให้ศาลรอการลงโทษจำเลย โดยเสนอเงื่อนไขให้จำเลยมารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 8 ครั้ง ภายใน 2 ปี และให้ทำงานบริการสังคมเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ภายใน 1 ปี

ศาลเห็นว่าจากการกระทำของจำเลยเป็นการโพสต์ข้อความด้วยถ้อยคำหยาบคาย นับเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งสร้างความเสื่อมเสียต่อองค์พระมหากษัตริย์ การโพสต์ของจำเลยเป็นการขาดความยับยั้งชั่งใจ กระทำการไปด้วยความโง่เขลา เบาปัญญา แต่เมื่อจำเลยได้ให้การรับสารภาพ ศาลจึงเห็นสมควรให้โอกาสแก่จำเลย โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นระยะเวลา 3 ปี ให้เข้ารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นจำนวน 8 ครั้ง ภายใน 2 ปี และทำงานบริการสังคมเป็นระยะเวลา 48 ชั่วโมง ภายใน 1 ปี

ศูนย์ทนายความระบุด้วยว่าหลังการอ่าคำพิพากษาศาลได้พูดกับพัชรพลด้วยว่าการรอลงอาญาไม่ใช่เรื่องง่าย ขออย่าให้ไปกระทำผิดซ้ำอีก ไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ ก็ตาม และการรอลงอาญาถือว่าเป็นความเมตตาแล้ว

คดีของพัชรพลนี้มี กวิน ชาตะวนิช กลุ่มศรีสุริโยไท และอดีตผู้สมัคร สส. จากพรรคไทยภักดี เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาไว้ที่ สน.บางพลัด เมื่อ 28 ก.ย.2564

แรกคิดสู้คดี แต่ภาระทางคดีและงานทำให้สารภาพ

คดีที่สอง ศาลจังหวัดเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาในคดีของของ “ต้น” (สงวนชื่อสกุล) ฟรีแลนซ์และรับงานด้านกราฟฟิกดีไซน์ วัย 27 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีชูป้ายข้อความในกิจกรรมคาร์ม็อบ #มินิด่วนนครพิงค์เชียงใหม่ไล่ประยุทธ์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564

คดีนี้ก่อนที่จะเริ่มการสืบพยานในเดือนสิงหาคม 2566 ต้นตัดสินใจให้การรับสารภาพ ศาลจึงได้สั่งให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติสืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลยเพิ่มเติม เพื่อประกอบคำพิพากษา

ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่าการอ่านคำพิพากษาของศาลอ่านแต่เพียงส่วนของการพิจารณาโทษของจำเลย โดยระบุว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน พิจารณาจากรายงานการสืบเสาะและคำแถลงประกอบคำรับสารภาพ เห็นว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ และเห็นว่าจำเลยสำนึกในการกระทำ เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้ริบของกลาง (ป้ายข้อความ)

ศูนย์ทนายระบุว่าก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2563-64 เขาไปร่วมชุมนุมทางการเมืองไม่กี่ครั้ง โดยเคยไปที่ประตูท่าแพ และมาร่วมคาร์ม็อบในครั้งนี้ แต่ก็ทำให้ถูกดำเนินคดีโดยพ.ต.ท.มนัสชัย อินเถื่อน อดีตรองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ กับพวก เป็นผู้กล่าวหาว่า ซึ่งในตอนแรก เขาคิดว่าจะต่อสู้คดีได้ แต่เมื่อคดีใช้เวลาค่อนข้างนาน และไม่อยากจะยืดเยื้อต่อไป เนื่องจากเขามีภาระในการงานอยู่ ทำให้เขาต้องตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การ

พยานหลักฐานไม่พอว่าจำเลยโพสต์

ศูนย์ทนายความฯ ได้รายงานถึงการอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 ของ “พิพัทธ์” ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ กรณีที่เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ พร้อมใส่ข้อความแทรกบนภาพ 2 ประโยค ในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสเมื่อปี 63

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ระบุว่าให้พิพากษายกฟ้องตามศาลชั้นต้น เนื่องจากหลักฐานพยานโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์จริง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

เดิมคดีในศาลชั้นต้นมีการพิจารณาถึงหลักฐานภาพจับหน้าจอซึ่งเป็นหลักฐานทางคอมพิวเตอร์ที่ถูกนำมาใช้ในการดำเนินคดีกับพิพัทธ์ไว้ว่า หลักฐานที่ผู้กล่าวหานำมาแจ้งความ เป็นการแคปภาพหน้าจอ (Capture) ของโพสต์มาจากกลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส” กับหน้าบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย นำมารวมกันก่อนปรินท์ภาพออกมา จึงไม่ใช่สิ่งพิมพ์ออกจากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง

ที่สำคัญผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นพยานจำเลยเบิกความว่า ภาพหลักฐานดังกล่าวที่ผู้กล่าวหานำมาแสดง สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัดต่อได้ รวมถึงพยานหลักฐานของโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์มีจุดเริ่มต้นส่งข้อมูล และปลายทางส่งข้อมูลเป็นอย่างไร หมายเลขประจำตัวเครื่องคอมพิวเตอร์คืออะไร ซึ่งเป็นข้อมูลระบุตัวตนสำคัญ ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยอยู่ที่ใด และใช้อุปกรณ์อะไรขณะกระทำผิด จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง พิพากษายกฟ้อง