Thailand
This article was added by the user . TheWorldNews is not responsible for the content of the platform.

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ขอประธานศาลฎีกาใช้ข้อบังคับว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวฯ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา เรื่อง ขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้ข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวฯ ถูกบังคับใช้ เพื่อคุ้มครองหลักประกันสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยอย่างเป็นเอกภาพ

30 ก.ย. 2566 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา เรื่อง ขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้ข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวฯ ถูกบังคับใช้ เพื่อคุ้มครองหลักประกันสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยอย่างเป็นเอกภาพ

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 เวลา 9.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 811 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ2495/2564 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายอานนท์ นำภา จำเลย โดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน องค์กรและบุคคลจำนวน 138 รายชื่อได้มีหนังสือถึงอธิบดีศาลอาญา ขอให้สั่งคำร้องให้เป็นไปตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ข้อ 24 และ 25 ในวันดังกล่าว ศาลอาญาพิพากษาจำคุกจำเลย 4 ปี ปรับ 20,000 บาท ไม่รอการลงโทษ ภายหลังศาลอาญามีคำพิพากษาได้มีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. วันที่ 28 ก.ย. 2566 มีข้อมูลจากทนายความว่าทราบจากเจ้าหน้าที่ศาลอาญาว่านัแต่มีการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยในวันที่ 26 ก.ย. 2566 จนกระทั่งวันนี้ ยังไม่ได้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง เนื่องจากข้อขัดข้องด้านธุรการ และศาลอาญาเพิ่งส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวไปยังศาลอุทธรณ์หลังเวลา 15.00 น. ไม่ทราบเวลาที่แน่นอน 

2. วันที่ 29 ก.ย. 2566 ซึ่งครบระยะเวลา 3 วันทำการซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ศาลอุทธรณ์ต้องมีคำสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยเร็ว ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคำสั่งส่งมายังศาลชั้นต้น 

3. วันที่ 30 ก.ย. 2566 หลังเวลา 12.00 น. ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย ด้วยเหตผลว่า 

“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีประกอบพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง 

ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ไต่สวนพยานผู้ร้องก่อนมีคำสั่งในคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนั้น เนื่องจากพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอต่อการวินิจฉัยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานผู้ร้องอีก ให้ยกคำร้องในส่วนนี้” 

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเห็นว่า การกระทำและคำสั่งของศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ในข้อ 24 ที่กำหนดว่า

“กรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือคดีที่ต้องขออนุญาตฎีกาก็ตาม หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนหรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใดๆ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยใช้วิธีการอย่างเดียวกับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาหรือจะใช้เงื่อนไขหรือมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง

ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนหรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์ และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใดๆ แม้จำเลยยังไม่ได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาหรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลที่มีอำนาจอาจมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวโดยใช้เงื่อนไขหรือมาตรการอย่างเดียวกับศาลล่างหรือจะใช้เงื่อนไขหรือมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นก็ได้”

ข้อ 25 กำหนดว่า “การดำเนินการตามข้อบังคับนี้ ให้ใช้วิธีการประเมินความเสี่ยงและแบบพิมพ์ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมกำหนด”

กรณีดังกล่าว ศาลอาญาละเลยการปฏิบัติตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาจนทำให้จำเลยต้องสูญเสียอิสรภาพในระหว่างที่ศาลอาญาส่งคำร้องฯ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง และส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์ล่าช้าเป็นอย่างมาก ซึ่งโดยปกติคำร้องจะถูกส่งไปยังศาลอุทธรณ์ในเดียวกันกับที่จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวคือวันที 26 กันยายน 2566 แต่ปรากฏว่าคดีนี้ ศาลชั้นต้นส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์ช่วงเย็นของวันที่ 28 กันยายน 2566 

ส่วนศาลอุทธรณ์ก็สั่งคำร้องไปโดยไม่มีการไต่สวน และอ้างว่าพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอต่อการวินิจฉัยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานผู้ร้องอีก ทั้งที่ในสำนวนคดี ไม่มีพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใดปรากฏว่าหากจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้วจะหลบหนี จึงเป็นการสั่งคำร้องโดยปราศจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เป็นการกระทำที่ขัดกับข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ โดยชัดแจ้ง ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของจำเลยและขัดแย้งต่อหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนนานัปการ  

สมาคมฯ ขอเรียนต่อท่านว่า การสั่งคำร้องปล่อยชั่วคราวควรมีมาตรฐานขั้นต่ำในการพิจารณาสั่ง ซึ่งข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อการนี้ไว้ในข้อ 25 คือให้มีการประเมินความเสี่ยงและแบบพิมพ์ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมกำหนด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้การสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของศาลเป็นการคาดเดาเอาเองอย่างเลื่อนลอยโดยปราศจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่าจำเลยจะหลบหนีหากได้รับการปล่อยชั่วคราว ซึ่งนับแต่ก่อตั้งสมาคมฯ เมื่อปี 2550 ปัญหาการสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของศาลในลักษณะนี้เป็นปัญหามาโดยตลอด ไม่ใช่เฉพาะคดีของนายอานนท์ นำภา และยังคงเป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งประธานศาลฎีกาได้ออกข้อบังคับดังกล่าวข้างต้น ซึ่งสมาคมฯ ประชาชน นักวิชาการ ทนายความและแวดวงนักกฎหมายต่างเห็นว่าเป็นข้อบังคับฯ ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาการปล่อยชั่วคราวที่ดำรงอยู่มาเนิ่นนานได้ แต่ปรากฏว่าศาลไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ

สมาคมฯ จึงขอเรียนมายังท่านเพื่อขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้ข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ ถูกบังคับใช้และปฏิบัติตามเพื่อคุ้มครองหลักประกันสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาอย่างเป็นเอกภาพต่อไป และเพื่อไม่ให้การกระทำหรือคำสั่งของศาลในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย เสมือนเป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของจำเลยเสียเอง