Thailand
This article was added by the user . TheWorldNews is not responsible for the content of the platform.

‘หมอโอภาส’ เผย ยุงก้นปล่องพาหะ ‘ไข้มาลาเรีย’ โรคประจำถิ่นไทย เชื้อขึ้นสมองถึงตาย

หมอโอภาส เผย ยุงก้นปล่องพาหะ ‘ไข้มาลาเรีย’ โรคประจำถิ่นไทย เชื้อขึ้นสมองถึงตาย แถมมีชนิดเรื้อรังแฝงตัวในตับ

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กับ ‘มติชน’ ถึงข้อมูลโรคไข้มาลาเรียขึ้นสมอง ว่า โรคมาลาเรียเป็นโรคติดเชื้อโปรโตซัวในกลุ่มพลาสโมเดียม(Plasmodium spp.) เป็นเชื้อที่นำโดยปรสิต ที่มียุงก้นป่องเป็นพาหะ ดังนั้น พื้นที่ป่า เขา จะมียุงเยอะ ก็อาจจะมียุงก้นป่องที่มีเชื้อนี้ได้ เฉพาะแถบชายแดนไทยเมียนมา ที่เราพบการติดเชื้อปะปราย ปัจจุบัน ประเทศไทยพบเชื้อนี้น้อยลงมา เพราะค่อนข้างควบคุมโรคได้ โดยเฉพาะในเมืองที่ไม่มียุงก้นป่อง ก็จะไม่เกิดปัญหา ซึ่งโรคมาลาเรียเป็นโรคประจำถิ่นของไทยแต่มีอัตราการเกิดโรคที่น้อยแล้ว

“เดิมเราเรียกว่าโรคไข้จับสั่น หรือไข้ป่า เพราะจะเกิดไข้หนาวสั่น วันเว้นวัน บางครั้งเกิดภาวะแทรกซ้อน ไตวาย หรือเชื้อขึ้นสมอง ก็ทำให้สมองอักเสบ หมดสติ ชักเกร็ง ไม่รู้สึกตัว” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า โรคไข้มาลาเรียมี 2 แบบคือ 1.การป่วยไม่เรื้อรัง และ 2.การป่วยเรื้อรัง ซึ่งการป่วยแบบเรื้อรังมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อ มีทั้งแบบเป็นๆ หายๆ เพราะเชื้อไปหลบซ่อนอยู่ในตับ ก็จะมีอาการออกมาเป็นระยะๆ ได้ แม้ไม่โดยยุงกัดซ้ำก็มีอาการได้ อย่างไรก็ตาม โดยเชื้อมาลาเรียที่ก่อโรคในคนมี 5 ชนิด ได้แก่ 1.เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมฟัลชิปารัม(P.falciparum) หรือ พีเอฟ (P.f.) เป็นเชื้อชนิดรุนแรง หากป่วยหนัก อาจมีอาการมาลาเรียขึ้นสมอง ถ้ารักษาไม่ทันอาจถึงตายได้ 2.เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมไวแวกซ์ (P.vivax) หรือ พีวี (P.v.) เป็นเชื้อชนิดไม่รุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รักษาให้หายขาด เชื้อสามารถอยู่ในร่างกายคนได้นานหลายปี จึงทําให้มีอาการของโรคไข้มาลาเรียเป็นๆ หายๆ 3.เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมมาลาเรอิ(P.malariae) หรือ พีเอ็ม (P.m.) 4.เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโอวาเล(P.ovale) หรือ พีโอ (P.o.) และ 5.เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโนไซ(P. knowlesi) หรือ พีเค (P.k.) เป็นเชื้อมาลาเรียที่อยู่ในลิงแสม แล้วติดมาสู่คน

เมื่อถามว่าหากติดเชื้อมาลาเรียแล้วขึ้นสมอง จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยอย่างไรบ้าง นพ.โอภาสกล่าวว่า จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง ตั้งแต่มีไข้ หมดสติ ชักและเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อติดเชื้อก็ต้องรีบรักษาทันที

“โรคนี้เป็นโรคที่นำโดยยุง ต้องมียุงมากัดจึงจะมีเชื้อ ปัจจุบันโรคไข้มาลาเรียในไทยลดลงเยอะ 1-2 ปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นปีแรกที่เสียชีวิต 1 ราย แต่ปีนี้มีเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบของประเทศเมียนมา ทำให้มีผู้อพยพเข้ามาในชายแดน ก็มีติดเชื้อบริเวณนั้นเล็กน้อย แต่ไม่เยอะ อย่างที่เคยมีมาลาเรียโนวไซที่เจอในลิง ตอนนี้ก็ควบคุมได้แล้ว” นพ.โอภาสกล่าว