Thailand
This article was added by the user . TheWorldNews is not responsible for the content of the platform.

“sacit”ขานรับวันผ้าไทยแห่งชาติ “12 สิงหาคม” หนุนภูมิปัญญาหัตถกรรมผ้าไท-ยวน ทรงคุณค่า รุกสู่ตลาดโลก



ศูนย์ข่าวนคราชสีมา- “sacit” ขานรับวันผ้าไทยแห่งชาติ “12 สิงหาคม 2565”หนุนภูมิปัญญาหัตถกรรมผ้าไท-ยวน โคราช งานทรงคุณค่าชั้นครูศิลป์ของแผ่นดินและครูช่างศิลปหัตถกรรม มุ่งสืบสานต่อยอดองค์ความรู้ ทักษะเชิงช่างและอนุรักษ์ผ้าทอของไทย ไม่ให้สูญหายตามกาลเวลา พร้อมดึงเจนใหม่ร่วมสร้างสตอรี่ผ่านสื่อโซเชียลฯและรุกเปิดตลาดผ้าไทยจาก 550 ล้านก้าวไกลสู่ตลาดโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กลุ่มทอผ้าไท-ยวนบ้านโนนกุ่ม อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) พร้อมคณะนำสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมหัตถกรรมทอผ้าไท-ยวน เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมรวมถึงอนุรักษ์ภูมิปัญญาชั้นครูให้คงสืบไป รวมทั้งเป็นการขานรับวันผ้าไทยแห่งชาติ 12 สิงหาคม 2565 นี้


นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ “sacit” มีภารกิจหนึ่งในด้านการสืบสาน ส่งเสริมคุณค่า ยกย่อง เชิดชู รักษา พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทย พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย รวมถึงพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการศิลปหัตถกรรมไทยให้มีความรู้ ความสามารถ เกิดการอนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สั่งสมสืบทอดจากบรรพบุรุษ สะท้อนถึงศาสตร์และศิลป์เชิงช่าง ในสาขาต่างๆ ให้ดำรงคงอยู่โดยไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา

รวมทั้งส่งต่อองค์ความรู้สู่คนรุ่นหลังให้ได้เห็นคุณค่า ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ สืบสาน เกิดการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมที่อยู่ในตัวบุคคลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ ในการส่งต่อให้ถึงผู้ที่อยู่ในวงการงานศิลปหัตถกรรมไทย เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ให้งานศิลปหัตถกรรมไทยมีความร่วมสมัยต่อไป

ครูปราณีต วรวงสานนท์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2560


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “sacit” ให้ความสำคัญกับผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าเป็นผู้ที่สืบสานและรักษาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่และสะท้อนความเป็นไทยมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานหัตถกรรมที่ใกล้จะสูญหายหรือมีผู้สืบทอดน้อยราย

ดังเช่น เสน่ห์อัตลักษณ์ผ้าทอไท-ยวน ที่ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาวไท-ยวน ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์บ่งบอกถึงชาติพันธุ์และถิ่นกำเนิด วัฒนธรรมการทอผ้าเพื่อใช้ในงานพิธีต่างๆ แต่เมื่อกาลเวลาล่วงเลยผ่านไป การทอผ้าอัตลักษณ์ชาวไท-ยวน เริ่มมีจำนวนผู้สืบสานลดน้อยลง ตัวอย่างเช่น ครูปราณีต วรวงสานนท์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2560 และ ครูสุพัตรา ชูชม ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2562


นายพรพล กล่าวอีกว่า นอกจากการอนุรักษ์ สืบสานและสนับสนุนแล้วเรายังต้องขยายตลาดผ้าไทยให้คนรู้จักมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ให้คนกลุ่มนี้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเราจะทำกิจกรรมเสนอการขายในรูปแบบสตอรี่หรือการเล่าเรื่องราวความเป็นมาและวิธีถักทอที่ผูกเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนในชุมชน นำเสนอขายให้กลุ่มต่างประเทศ ขณะแบบเดียวกันเราจะดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมในการสืบสานหัตถกรรมผ้าไทยโดยอาจจะผ่าน influencer หรือ การเล่าเรื่องราวแบบคนรุ่นใหม่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ด้วย

สำหรับหัตถกรรมผ้าไทยทั่วประเทศสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการในแต่ละปีได้มากกว่า 550 ล้านบาทและคาดว่าปีนี้รายได้จากหัตถกรรมผ้าไทยจะมีตัวเลขใกล้เคียงกันโดยเรามีเป้าหมายที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้หัตถกรรมผ้าไทยทำรายได้ไปถึงปีละ 1,000 ล้านบาท ให้ได้


ครูปราณีต วรวงสานนท์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2560 ที่ยังคงสืบสานการทอผ้าทอไท-ยวนที่ใช้กรรมวิธีทอลายขวางลงไปในบริเวณส่วนกลางของผืนซิ่น (ตัวซิ่น) สามารถเปลี่ยนสีของผืนซิ่นได้ตามความต้องการของลูกค้า แต่ยังคงไว้ในส่วนหัวซิ่นกับช่วงท้ายซิ่นที่ใช้สีเหมือนกัน เป็นการอนุรักษ์รูปแบบการทอผ้าซิ่นไท-ยวน แบบโบราณเอาไว้ อาทิ ผ้าห่มมุก และ ผ้าห่มเสื่อ เนื่องจากรูปแบบของลายที่ใช้ทอประกอบลงไปในเนื้อผ้าทั้งสองชนิดนั้น เป็นลวดลายที่ยาก ต้องนำผ้ามุกมาทอลายยกดอก 5 ตะกอ โดยถือเป็นรูปแบบการทอผ้าซิ่นยวนโบราณไว้ได้อย่างครบถ้วน


ด้าน ครูสุพัตรา ชูชม ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2562 ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่อนุรักษ์เทคนิคการจกแบบโบราณด้วยขนเม่น หรือที่ชาวยวนเรียกว่า "ผ้าเก็บ" ซึ่งเป็นเทคนิคการจกที่มีการสืบทอดมาตั้งแต่โบราณ เป็นการจกสด ไม่มีการเก็บลายไว้ก่อน นอกจากนี้ ยังได้รื้อฟื้นชิ้นงานขึ้นใหม่ คือ "ถง" หรือ "ถุงย่ามไท-ยวน" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์สำคัญที่อยู่คู่กับชาวไท-ยวน ในยุคเชียงแสนตอนต้นมาอย่างยาวนาน

นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)