Thailand
This article was added by the user . TheWorldNews is not responsible for the content of the platform.

สื่อพม่าเผย ม.เชียงใหม่ ร่วมมือ SUM จัดหลักสูตรเรียนออนไลน์ ให้นักศึกษาต้านรบ.ทหาร

สื่อพม่าเผย ม.เชียงใหม่ ร่วมมือ SUM จัดหลักสูตรเรียนออนไลน์ ให้นักศึกษาต้านรบ.ทหาร

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ดิ อิระวดี รายงานว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง กับ สปริง ยูนิเวอร์ซิตี้ เมียนมา หรือ SUM โดยจะรับนักศึกษา 500 คนจากเมียนมา โดยให้สิทธิเข้าเรียนหลักสูตรออนไลน์ก่อน

SUM เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2564 ด้วยคนหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษา หลังจากเกิดรัฐประหาร เพื่อเติมช่องว่างทางการศึกษา สำหรับนักเรียนที่ไม่ต้องการเรียนภายใต้ระบบของรัฐบาลเผด็จการ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชน เตรียมพร้อมสำหรับการมีส่วนร่วมของรัฐบาลประชาธิปไตยในอนาคต โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการภายใต้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) รัฐบาลเงาของเมียนมา

ขณะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่โดดเด่นในภาคเหนือของประเทศไทย

ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาของ SUM เปิดเผยว่า SUM มีความยินดี ที่จะประกาศว่าได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง กับคณะในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ทุนเรียนออนไลน์ดังกล่าว เป็นหลักสูตร 3-6 เดือน และไม่ใช่หลักสูตรบัณฑิตศึกษา แต่นักศึกษาจะได้รับใบรับรอง ที่เป็นที่ยอมรับจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” SUM เปิดเผย ทั้งยังเสริมว่า พวกเขาจะรับนักเรียน 500 คน มาเรียน เป็นเวลา 3 ปี โดยอายุขั้นต่ำอยู่ที่ 18 ปี โดยให้สิทธิกับ นักเรียนที่เข้าร่วมในขบวการอารยะขัดขืน หรือ Civil Disobedience Movement-CDM ครอบคลุมค่าเล่าเรียน และ ค่าอินเทอร์เน็ต สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ

โดยจะเริ่มรับสมัครปลายปีนี้ ขณะที่การฝึกอบรม จะบริหารจัดการโดย SUM ส่วนหลักสูตรและ อาจารย์ จะมาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยนานาชาติอื่นๆ ทั้งยังมีความร่วมมือกันเรื่องโครงการวิชาการ การวิจัย

ก่อนหน้านี้ SUM ได้ลงนามในข้อตกลง กับ International IDEA ซึ่งอยู่ในสวีเดน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ขณะนี้ SUM มี 11 โรงเรียน และดำเนินการฝึกอบรมกว่า 300 โปรแกรม และ อนุปริญญา 4 หลักสูตร แบบออนไลน์ ทั้ง เศรษฐศาสตร์ การจัดการ , เพศภาวะ , นิเวศวิทยา , ความหลากหลายทางชีวภาพ กฎหมาย โลกร้อน การท่องเที่ยว ภาษาอังกฤษ ในช่วงปีที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรผู้บริจาคระหว่างประเทศ

ภาพจาก Spring University Myanmar – SUM

ทั้งนี้ บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้พบกับนักเคลื่อนไหวชาวเมียนมา และ ตัวแทนของ SUM เมื่อ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การศึกษาหลังรัฐประหาร ทั้งเรื่อง ครู นักเรียน อินเทอร์เน็ต และ การสนับสนุนของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ปีครึ่งหลังจากรัฐประหารของเผด็จการพม่า นักเรียนและครู จำนวนมาก ในพม่า ยังคงคว่ำบาตรระบบการศึกษาของรัฐบาลทหาร ครู 150,000 คน จาก 450,000 คนทั่วประเทศ ได้ร่วมกับ CDM และมีนักเรียนเพียง 5.2 ล้านคน ที่เข้าชั้นเรียน จากจำนวนที่มีนักเรียนในขั้นพื้นฐาน 9 ล้านคน หมายความว่า 4 ล้านคน ยังคงคว่ำบาตรระบบการศึกษา

โดย รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) และนักเคลื่อนไหว ได้พยายามเติมเต็มช่องว่างทางการศึกษานี้ โดยเปิดโรงเรียนออนไลน์ และ ออฟไลน์ทั่วประเทศ แต่รัฐบาลทหารก็ได้จับกุมครูที่ทำงานให้กับโรงเรียนออนไลน์ของ เอ็นยูจี ซึ่ง เอ็นยูจี ได้ดำเนินการเกี่ยวกับโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 52 แห่ง และออฟไลฟ์อีกหลายแห่ง ใน ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พะโค คะฉิ่น กะเหรี่ยง รัฐฉาน มอญ และ รัฐชิน